ธนบัตร คือ เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย แต่เมื่อธนบัตรหรือแบงค์ปลอมระบาด สร้างความเดือดร้อนไปทั่วในทุกอาชีพ โดยเฉพาะคนรากหญ้า ทำมาหากินสุจริต และธนบัตรปลอมราคาสูงเท่าไร นั่นหมายถึง การขาดทุนจำนวนมากตามราคาธนบัตร อย่าง แบงค์ 1,000 บาท 500 บาท เป็นต้น ดังนั้น วิธีป้องกันธนบัตรปลอมดีที่สุด คือ การกระตุ้นเตือนให้ประชาชนสังเกต พร้อมกับการให้ความรู้ในการสังเกตธนบัตร นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแล้ว ยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายธนบัตรปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
วิธีสังเกตธนบัตรปลอม
วิธีสังเกตแบงค์ปลอมหรือไม่ควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป
1. การสัมผัส

- กระดาษธนบัตรทำจากกระดาษใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ไม่ยุ่ยง่าย ทนทาน เมื่อจับสัมผัสแล้วจะรู้สึกต่างจากกระดาษทั่วไป
- ลายพิมพ์เส้นนูน ซึ่งเกิดจากการพิพม์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึก และใช้แรงกดพิมพ์สูง ทำให้หมึกพิมพ์นูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและเส้นที่อยู่บนธนบัตรจึงมีความละเอียดคมชัด และใช้การพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า “รัฐบาลไทย” ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา สัมผัสแล้วจะสะดุดที่ปลายนิ้ว
2. ยกส่อง

- ลายน้ำ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อกระดาษธนบัตร เกิดจากขั้นตอนในการผลิตกระดาษ โดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนา-บางไม่เท่ากัน จนเกิดภาพตามที่ต้องการ โดยลายน้ำในธนบัตรไทยจะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเห็นลายน้ำได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง เมื่อส่องกับแสงสว่าง โดยลายน้ำตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยจะมีลักษณะโปร่งแสงเป็นพิเศษ
- ช่องใส ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท จะมีช่องใสทรงหยดน้ำ สามารถมองเห็นทะลุได้ทั้ง 2 ด้าน โดยจะมีตัวเลข 20 เป็นลักษณะนูนขนาดเล็ก ช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และตัวเลข 20 จะต้องสามารถมองเห็นทะลุทั้ง 2 ด้าน พิมพ์ด้วยหมึกพิเศษที่เมื่อพลิกธนบัตรขึ้น-ลง จะต้องเห็นเป็นสีเหลือบแดง โดยมีตัวเลข 20 สีทองอยู่ตรงกลางช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
- ภาพซ้อนทับ เกิดจาเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้า-ด้านหลังซ้อนทับกันสนิท ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการยกธนบัตรขึ้นส่องกับแสงสว่าง
3. พลิกเอียง

- ตัวเลขแฝง โดยตัวเลขชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ สามารถมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
- หมึกพิมพ์พิเศษ โดยลายดอกประดิษฐ์ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็ก 3 มิติเปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา และเมื่อพลิกธนบัตรขึ้น-ลง หรือ ซ้าย-ขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนสลับสี ในขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์จะพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ และเมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นลายเป็นประกาย
- แถบสี เกิดจากกรรมวิธีการผลิตพิเศษ ด้วยการฝังแถบพลาสติกขนาดเล็ก เคลือบด้วยสีโลหะในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง ทำให้เมื่อส่องกับแสงสว่างจะมองเห็นตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อเปลี่ยนมุมมอง และมีบางส่วนของแถบกระดาษประกฏให้เห็นเป็นระยะ
- แถบฟอยล์ภาพ 3 มิต จะผนึกไว้ตามแนวตั้ง มีภาพ 3 มิติอยู่ภายใน และเมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา จะเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหวตาม และจะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงสวยงาม
- ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง ซึ่งเป็นการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ ที่สามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมาวดเลขจะเรืองแสง และเส้นใยที่ฝังในเนื้อกระดาษจะเรืองแสงเป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงิน
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แนะวิธีสังเกตแบงค์พันปลอมหรือไม่ ให้ดูที่ “แถบสีทอง” ที่ฝังในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสง จะเห็นเป้นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BATH” และเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว ลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้ และแถบสีอาจมีรอยขูดขีดหลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
โทษของการปลอมแปลงธนบัตร

สำหรับโทษของผู้ปลอมแปลงเอกสาร หรือกระทำความผิดฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร หรือปลอมเหรียญกระษาปณ์ และสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้นำออกใช้ ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องจำคุกตั้งแต่ 10 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท หรือระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ส่วนผู้ใช้ธนบัตรปลอมซื้อสินค้าและบริการ ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามกฏหมาย โดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ดังนี้
1. ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมารู้ว่าเป็นแบงค์ปลอมแล้ว แต่ยังนำไปใช้ในการชำระหนี้ ซื้อสินค้าและบริการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 245
2. มีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 244
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำความผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตลอด 24 ชั่วโมง